ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นจดหมาย ถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรันต์

ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นจดหมาย ถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรันต์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและสมาชิกพรรค โดยในเนื้อหาจดหมายได้มีรายละเอียดดังนี้

เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง

เรียน คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้บริหารพรรคก้าวไกล

เนื่องด้วยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ประสานงาน และดำเนินกิจกรรมพัฒนาร่วมกับชุมชนกะเหรี่ยงครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัดในประเทศไทยที่มีชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตป่าประเภทต่าง ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ยังไม่มีการกันเขตพื้นที่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนออกมาให้ชัดเจน จึงทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง ในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและดำเนินคดีในระหว่างที่ทำกิน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่า ในด้านการพัฒนา ชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าไม่สามารถได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้เนื่องจากติดกรอบข้อกฎหมายต่างๆ ทำให้ชุมชนเหล่านั้นเข้าไม่ถึงการพัฒนาและบริการจากรัฐได้ในหลาย ๆ กรณี เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน ไฟฟ้า การสนับสนุนการขดเชยด้านการเกษตร การก่อสร้างอาคารสถานที่ ฯลฯ ประกอบกับนโยบายที่รัฐออกมาอีกหลายมายได้ส่งกระทบต่อชุมชนในเขตป่าโดยตรง เช่น 1) นโยบายทวงคืนผืนป่า (ประกาศคสช.64/2557 ) เรื่องการปรับปรามและหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ประกาศนี้ทำให้ชุมชนหลายพื้นที่ต้องสูญที่ดินของตนเองโดยรูปแบบการเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” พื้นสวนวนเกตร สวนครอบครัวที่ปล่อยพื้นที่มีการพักฟื้น 2) การจัดการที่ดินตามแนวนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นโยบายนี้ไม่เปิดช่องให้ชุมชนเป็นเจ้าของที่ดินโดยเฉพาะพื้นที่ดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และชุมชนต้องจำใจเช่าที่ดินบรรพบุรุษตามระเบียบของการใช้พื้นที่ของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.). 3) พื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทุกประเภท ยังไม่มีการกันพื้นที่ออกจากป่าอนุรักษ์ ถึงแม้หลายพื้นที่ได้ทำการรางวัดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ และองค์กรพัฒนาเอกชนแต่ในทางปฏิบัติไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ หลายพื้นที่มีการเตรียมการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด เช่น ขอบเขตของพื้นที่ประกาศ การกันเขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน ป่าชุมชน เป็นต้น ยิ่งมีการปรับปรุงกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ (พรบ.ป่าไม้ปี 2562, พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562, พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2562 และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562) โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยิ่งมีเนื้อหาเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระทบต่อวิถีชีวิตผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าโดยตรง รวมไปถึงอคติทางวาทะกรรมหลายเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นที่มีผลต่อภาพลักษณ์ และการมองชุมชนบนพื้นที่สูงในทางลบ ผ่านหลักสูตรการศึกษา สื่อมาอย่างยาวนาน มีการเชื่อมโยง และเลือกปฏิบัติในการใช้ระเบียบและข้อกฏหมายที่แตกต่างไปจากคนอื่นด้วย เป็นต้น

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ จึงขอยื่นข้อเสนอต่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้บริหารพรรคที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับระเบียบ และข้อกฎหมายต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้มีการปรับปรุงและแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนให้น้อยที่สุดดั้งนี้

1) การลดอคติทางลบต่อชาติพันธุ์ ว่าด้วยคำว่า “ชาวเขา” ที่รัฐสร้างขึ้นมาอย่างยาวนานซึ่งเป็นในลักษณะแยกเขา แยกเรา ทำให้สังคมมองชุมชนบนพื้นที่สูงว่า เป็นผู้แปลกไปจากคนกลุ่มใหญ่ ถูกมองว่าเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ป่า และเป็นการคุกคามต่อทรัพยากรธรรมชาติของชาติ อยากให้รัฐส่งเสริมและสอดแทรกกิจกรรมพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์มองทุกกลุ่มชนอยู่แบบเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไม่มองแบบแบ่งแยก โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทุกประเภทว่าได้เป็นผู้ร่วมทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ดูแลทรัพยากรของชาติ รวมถึงคำว่า “ไร่หมุนเวียน” ที่ถูกภาครัฐสร้างวาทกรรมว่าเป็น “ไร่เลื่อนลอย” เป็นภาพที่น่ากลัว เป็นการทำลายป่า ทั้งๆที่ระบบการเกษตรแบบ ”ไร่หมุนเวียน” เป็นตัวการหนึ่งที่รักษาไว้ซึ่งทรัพยากรของชาติ และเอื้อต่อระบบนิเวศน์ การคงอยู่ของพันธุ์พืช รวมถึงสัตว์ป่า แมลง ในฐานะผู้ผสมเกษร สร้างสมดุมทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ และกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศ “ไร่หมุนเวียน” ในนาม “คึ-ฉื่ย” เป็นมรดกภูมิทางวัฒนธรรมของชาติเมื่อปี 2556 อยากให้รัฐมีมุมมองที่ในทางบวกต่อระบบการเกษตรแบบ “ไร่หมุนเวียน” และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐว่าเป็นระบบการผลิตหนึ่งของชุมชน เพราะยังมีชุมชนอีกจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาระบบการเกษตรแบบ ”ไร่หมุนเวียน”

2) นโยบายทวงคืนผืนป่า (ประกาศ คสช.ที่ 64/2557) ต้องมีการทบทวน และให้ภาคประชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองพื้นที่โดยผ่านคณะกรรมการชุมชน ลุ่มน้ำ ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยที่ไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินโดยลำพัง การตรวจสอบ การพิจารณาในการทวงคืนพื้นที่ควรคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการท้องถิ่น และเป็นไปอย่างเป็นธรรม

3) การจัดการที่ดินตามแนวนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในขั้นตอนการออกกฏระเบียบตามนโยบายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งผลให้ชุมชนไม่มีช่องทางในการเป็นเจ้าของที่ดินโดยเฉพาะพื้นที่ดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและชุมชนต้องจำใจเช่าที่ดินบรรพบุรุษ ทำให้ชุมชนไม่มีสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง แต่เข้าสู่การเช่าที่ดินของรัฐอยู่ในสถานะผู้เช่า และเมื่อได้รับเอกสารยืนยันการเช่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วจะตกอยู่ในสถานะผู้เช่าโดยถาวร โดยเฉพาะช่วงการต่อการอนุญาตเช่าที่ดินรุ่นที่2 รุ่น3 จะต้องดำเนินการตามระเบียบและเงื่อนไขของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ หากไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ อาจไม่อนุญาตต่อสัญญาการเช่าหรือยกเลิกการเช่าก็อาจเกิดขึ้นได้ เกรงว่าในระยะยาวที่ดินเหล่านี้จะอยู่ในการควบคุมของรัฐ ทำให้ชุมชนที่ใช้ดินในเขตป่าอนุรักษณ์ทุกประเภทไม่มีความมั่นคงในที่ดินในช่วงรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต

ต่อประเด็นนี้ทั้งเครือข่ายกะเหรี่ยงฯและชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า มีข้อเสนอให้มีการทบทวนหรือแก้ไขระเบียบว่าด้วยการจัดการที่ดินตามกรอบของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.)ให้สอดคล้องกับสภาพจริง และดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการทบทวนระเบียบในทุกระดับ ในส่วนของการออกเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ประเภทต่างๆโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีการอาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ประเภทต่างๆ ควรได้รับสิทธิอันชอบธรรมในการถือครองที่ดินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยให้อยู่รูปแบบของการจัดการโดยใช้ระเบียบชุมชน ลุ่มน้ำ เทศบัญญัติ เป็นสิทธิ์การอยู่อาศัย ทำกิน สืบทอดไปยังลูกหลานเหลนได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการจำหน่าย การมีส่วนรับผิดชอบในการใช้ที่ดินโดยใช้รูปแบบ “การเสียภาษี” จากการใช้ที่ดินจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่รูปแบบ “การเช่า” ที่ดินจากรัฐ

4) พื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทุกประเภท ให้มีการจัดทำประวัติการใช้ที่ดิน มีการรางวัดขอบเขตที่ดินรายแปลงโดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เช่น และใช้ระเบียบ ชุมชน ลุ่มน้ำ หรือ เทศบัญญัติเป็นกลไกควบคุม พร้อมกับรายงานเข้าคณะกรรมการระดับอำเภอ จังหวัด ชาติ ในขั้นตอนการรางวัดวัดขอบเขตที่ดิน

5.ให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขกฏกระทรวงว่าศูนย์การเรียนที่ออกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2555 ที่ระบุคำว่า “อาจได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ให้แก้เป็น “ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” เนื่องจากว่ามีศูนย์การเรียนที่จัดโดยครอบครัว ชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศทุกศูนย์ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐใดๆ เนื่องจากมีข้อติดขัดเรื่องกฏกระทรวงดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ศูนย์การเรียนบ้านมอวาคี หมู่ที่16 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกศูนย์การเรียนหนึ่งที่จดทะเบียนศูนย์การเรียนโดยชุมชนตั้งแต่ปี 2559 และศูนย์นี้มีการจัดการศึกาโดยชุมชนมากกว่า 31ปี จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐใดๆ ทุกวันนี้ทางศูนย์ฯต้องแก้ปัญหาด้วยการขอรับบริจาค นม อาหารกลางวัน อุปกรณ์การเรียน รวมถึงค่าจัดซื้อ จัดจ้างจากบุคคล หน่วยงาน องค์กร ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากสำหรับผู้จัดการเรียนการสอน และยังมีศูนย์การเรียนอื่นๆทั่วประเทศ อีกจำนวนกว่า 85 ศูนย์ที่กำลังประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ดังนั้นขอให้บรรจุประเด็นปัญหาศูนย์การเรียนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้มีการปรับแก้กฏกระทรวงดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

ส่วนที่2 ให้แก้ไขมาตรา 39 ของพระราชัญญัติ กองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษาปีพุทธศักราช 2560 โดยให้สิทธิ์แก่เด็กทุกคนที่เรียนในโรงเรียน หรือสถานันการศึกษาได้รับสิทธิในการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้นทั่วหน้า โดยเฉพาะนักเรียนที่ไร้สัญชาติหรือกำลังพิสูจน์สัญชาติได้มีโอกาสได้รับการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

6) รูปแบบของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกระดับ ทั้งชุมชน ลุ่มน้ำ อำเภอ จังหวัด ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงฯยังยืนยันใช้รูปแบบชุมชนจัดการตนเองตามพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษตามกรอบมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าแนวนโยบายฟื้นฟู้วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็น (อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์และวัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร สิทธิในสัญชาติ การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และการศึกษา) ถ้าสามารถดำเนินการได้ตามกรอบมติคณะรัฐมนตรีนี้ ชุมชนมีการจัดการตนเอง โดยมีหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน ให้กำลังใจชุมชน ตั้งคณะกรรมการดำเนินร่วม และดึงการส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ กำหนดขอบเขตพื้นที่นำร่อง ระยะเวลาการทำงาน พร้องทั้งนำเสนอพื้นที่ตัวอย่างปฎิบัติการดี ให้ชุมชน ลุ่มน้ำอื่น ๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้ และสามารถไปปรับใช้ในชุมชนของตนเองโดยมีหน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุน จะทำให้การขับเคลื่อนงานจัดการทรัพยากรชุมชนเป็นจริง มีรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายผลมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ไปยังชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

7) จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ (ทั้งระดับนโยบายและท้องถิ่น) เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมในทุกมิต ตั้งแต่ชุมชน ลุ่มน้ำ ตำบล ในระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นประธาน ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอำนวยการ พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และมีงบประมาณดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมขอขอบพระคุณล่วงหน้ายังท่านและผู้บริหารพรรคทุกท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอของเครือข่ายฯ จะได้รับการตอบรับจากท่าน นำไปสู่การทำงานร่วมกัน และมีผลในทางปฏิบัติต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

นายทรงพลศักดิ์ รัตนวิไลลักษณ์

ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม.

15 มิถุนายน 2566