ร่วมศึกษาวิเคราะห์ชุมชนต้นแบบบ้านหินลาดใน

คุณประเสริฐ พนาไพโรจน์ ผู้ประสานงานภาคสนามเครือข่ายฯ เป็นตัวแทนของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม(KNCE) ในการเข้าร่วมศึกษาวิเคราะห์ชุมชนต้นแบบบ้านหินลาดใน ที่จัดโดย Asia Indigenous Peoples Pact (AIPP) และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(IMPECT)​ ณ บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

——————————————————-

บ้านหินลาดใน เป็นชุมชนชาวปว่าเกอะญอ ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อกว่าร้อยปีก่อน เป็นหมู่บ้านในแอ่งกระทะกลางโอบเขา มี 3 หย่อมบ้านย่อย ได้แก่ บ้านห้วยหินลาดใน บ้านห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง อำเภอเวียงป่าเป้า มีภูเขาผีปันน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดน้ำแม่ลาว น้ำแม่ฉางข้าว น้ำแม่ปูน น้ำแม่โถ และน้ำแม่เจดีย์ ป่าต้นน้ำเหล่านี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ ทางด้านทิศตะวันตก และป่าสงวนแห่งชาติแม่ปูนน้อย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เวียงป่าเป้าเป็นอำเภอเดียวในเชียงราย ที่มีต้นกำเนิดแม่น้ำไหลย้อนกลับขึ้นไปและไปรวมกับน้ำแม่กก

ชุมชนบ้านหินลาดในเป็นชุมชนต้นแบบที่ได้รางวัลระดับนานาชาติจากสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ชื่อรางวัล “United Nations Forest Hero Award” ในปีพ.ศ.2556

จากสภาพป่าบ้านห้วยหินลาดในเป็นสภาพป่าสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาวที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชุมชนหินลาดในมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่มีความผูกพันกับป่าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้การจัดการทรัพยากรป่ามีความเคารพต่อวิถีธรรมชาติ เน้นความสมดุลธรรมชาติที่อย่างยั่งยืน

กฎระเบียบป่าชุมชน

  • ห้ามตัดไม้ขายในเขตป่าชุมชนและเขตป่าอนุรักษ์
  • ห้ามล่าสัตว์ป่าในเขตป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนในระยะรัศมี 1 กิโลเมตร
  • ห้ามบุกรุกและทำลายป่าในเขตป่าต้นน้ำ
  • ห้ามเผาป่าเพื่อประโยชน์ใดๆ (ยกเว้นพื้นที่ทำกิน ไร่หมุนเวียนในระยะเวลาที่กำหนด)
  • ห้ามใช้เครื่องมือ ตาข่ายดักนกและกาวจับนกและเบื่อปลายในแหล่งน้ำในเขตป่าชุมชน

วิธีจัดการป่าโดยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน

  • พึ่งพาและให้ความเคารพต่อธรรมชาติ
  • ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนกติกาที่พัฒนาขึ้นจากกการมีส่วนร่วมของชุมชน
  • สร้างเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ พื้นที่เขตหวงห้าม โดยมีส่วนร่วมจากชุมชน
  • จัดการทรัพยากรบนฐานประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา
  • สร้างจิตสำนึกการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยองค์กรชุมชน

———————–

คนกับป่าพึ่งพาอาศัยกันด้วยความสมดุล

  • ผลผลิตจากป่า มาใช้เพื่อการบริโภคเป็นหลัก เช่นหน่อไม้ พืชผัก หางหวาย เห็ด
  • ผลผลิตจากป่าบางชนิด ได้ขายและเป็นรายได้เสริมของชุมชน โดยให้มีการหักเข้ากองทุนชุมชนส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนในการดูแลทรัพยากรต่อไป เช่น หน่อไม้ น้ำผึ้ง มะขม ฯ
  • ใช้ทรัพยากรจากป่าเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเชื้อเพลิงหุงต้ม ด้วยระเบียบกติกาของชุมชน
  • ใช้ยาสมุนในป่าเพื่อการรักษา โดยความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

———————–

ประเพณีและวัฒนธรรม

  • การแต่งกาย เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรม ของชาติพันธุ์ ปกาเก่อญอ
  • ประเพณีประจำปี เป็นการเชื่อทางจิตวิญญาณโดยการปฏิบัติร่วมของชุมชน
  • ประเพณีพิธีกรรม การเคารพซึ่งธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติโดยร่วมของชุมชน
  • พิธีกรรมความเชื่อ การเคารพธรรมชาติ โดยครอบครัวและด้วยตัวบุคคล
  • พิธีกรรมในครัวเรือน การนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า)
  • ประเพณีพิธีกรรม ที่นับถือปฏิบัติในไร่นา เคารพต่อแม่น้ำ ป่า
  • ความเชื่อและจารีตความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติ แม่น้ำ ต้นไม้ และสัตว์ป่า

———————–

การผลิตระบบวนเกษตร

  • มีการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด เน้นพืชยืนต้นเป็นหลัก
  • ปลูกพืชที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • มีกฎระเบียบการจัดการที่ดิน และข้อห้ามเรื่องการเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม
  • เพื่อการบริโภคและเป็นรายได้ของชุมชน

———————–

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม