เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(IMPECT) ได้ลงไปติดตาม หนุนเสริมโครงการสร้างสรรค์โอกาสและเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในภาคเหนือ (สส.ชพ.) โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อสุขภาวะของชุมชน บ้านแม่ลายบนและบ้านแม่ลายเหนือ ตำบลป่าโปง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 8-9 กันยายน 2566
ชุมชนบ้านแม่ลายบน หมู่ที่ 6 ตำบลป่าโปง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอว์ มีประชากรจำนวน 80 หลังคาเรือน 230 คน ชาย 101 คน หญิง 119 คน บ้านแม่ลายบนก่อตั้งอย่างเป็นทางการสมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม โดยนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีนโยบายที่จะช่วยเหลือชาวเขา หมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแม่ยวม เป็นป่าดงดิบ ที่ตั้งของหมู่บ้านมีสภาพตั้งอยู่บนเนินเขาและหุบเขามีภูเขาล้อมรอบ การเดินทางระหว่างบ้านใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ได้ทุกฤดูกาล มีถนนสายหลักทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 108 เป็นถนนเส้นหลักในการคมนาคม สภาพภูมิอากาศในหมู่บ้านแม่ลายบนมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูร้อนในตอนกลางวันอากาศจะร้อนส่วนฤดูหนาวอากาศจะหนาวมาก ลักษณะสภาพดินเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การเพาะปลูก สภาพเศรษฐกิจของชุมชนบ้านแม่ลายบนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการปลูกข้าวนาและข้าวไร่มาเป็นอำดับแรกและรองลงมาคือการปลูกกะหล่ำปลี ถั่วแดง อาชีพเลี้ยงสัตว์และการรับจ้างทั่วกับปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริม จุดอ่อนด้านเศรษฐกิจคือราคาพืชผลตกต่ำจุดอ่อนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ, การใช้สารเคมีทางการเกษตรเพิ่มขึ้น, มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและทำการเกษตร ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการกักเก็บน้ำ
จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าชุมชนบ้านแม่ลายบน มีปัญหาระบบน้ำดื่มประปาภูเขาในชุมชนไม่เพียงพอต่อครัวเรือนในชุมชน ซึ่งชุมชนมีระบบน้ำดื่มประปาภูเขาของชุมชนมาจากลำห้วยพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชนเพียงแห่งเดียวที่เป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชนที่สามารถแจกจ่ายน้ำให้กับชุมชนได้ แหล่งต้นน้ำอื่น ๆ มีสารปนเปื้อนจากสารเคมีที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตร แท้งน้ำในการกะเก็บน้ำมีขนาดเล็กและมีจำนวนน้อย ซึ่งปัจจุบันมีน้ำเหลือน้อยลง เพราะไม่มีฝายกักเก็บน้ำประปาภูเขาชุมชน ด้วยจำนวนประชากรในชุมชนที่เพิ่มขึ้น การใช้ปริมาณน้ำที่มากขึ้น คนในชุมชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความตระหนักในการใช้น้ำประปา ชาวบ้านบางคนมีพฤติกรรมเปิดน้ำทิ้งไว้ ทำให้ชุมชนไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ ชาวบ้านต้องมีการตวงเก็บน้ำไว้หรือมีการลงไปซื้อจากข้างล่างมา ส่งผลคนในชุมชนที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อถังน้ำตวงและการซื้อน้ำดื่ม รวมถึงช่วงหน้าฝนในวันที่ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลหลากสร้างความเสียหายต่อระบบน้ำประปาภูเขาในเขตป่าต้นน้ำ ขาดคนอาสาที่จะคอยดูแลเพราะไม่มีเวลา ทุกคนต่างทำเกษตรของตนเอง อีกทั้งช่วงหน้าฝนระบบน้ำประปาภูเขาของชุมชนจะมีตะกอนที่มากและน้ำขุ่นทำให้ชุมชนมีน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งคนในชุมชนนั้นมีความกังวลต่อน้ำมีตะกอนที่ส่งผลต่อสุขภาพและน้ำที่ไม่พอใช้ในครัวเรือนที่ก่อให้เกิดการเพิ่มรายจ่ายที่มากขึ้น ในช่วงสถานการณ์ที่เศรษฐกิจย่ำแย่ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นถึงความร่วมมือในการดูแลป่าต้นน้ำที่น้อยลงเนื่องจากบางส่วนไม่เข้าใจกฎระเบียบในการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำที่กับเก็บน้ำประปาภูเขาชุมชน
จากสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแม่ลายบน แกนนำชุมชนมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องระบบน้ำประปาภูเขาของชุมชนที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนของชุมชนโดยการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ เป็นจุดพักน้ำลดตะกอนที่มากและน้ำขุ่น เพิ่มปริมาณน้ำระบบประปาภูเขาของชุมชน รวมถึงการทบทวนกฎระเบียบการใช้น้ำประปาภูเขา การจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำและประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนเข้าใจ ตระหนัก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้นำประปาภูเขา การดูแลซ่อมแซมฝายชะลอน้ำและพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชนต่อไป
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม